ฮิมต๋าย ฮิมยัง

ฮิมต๋ายฮิมยัง :  น้ำเปลี่ยนชีวิต

สลด! “นักฟุตบอล”สโมสรดัง เมาขับเก๋งชนคนออกกำลังกายดับ 1 สาหัส 1 ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ได้ 184 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ยอมเซ็นรับทราบ ขณะที่เพื่อนทีมเดียวกันขับรถมาดู หาเรื่องนักข่าว ด่ากู้ภัยฯ จะต่อยตำรวจ ด้าน”เพจสโมสรดังกล่าวเจอทัวร์ลงหนัก ส่วนใหญ่จี้อย่าปกป้องคนผิด

นี่คือพาดหัวข่าวเรียกว่าช็อกกันไปทั้งบาง เมื่อเช้าตรู่วันที่ 26 ตุลาคม มีข่าวคราวที่ทำให้ตกตะลึง เมื่อมีข่าวว่ามีเหตุขับรถชนคนตาย

รายละเอียดของเรื่องนี้ ผู้ตายเป็นหญิงวัย 62 ปี เสียชีวิตในชุดออกกำลังกาย กับผู้บาดเจ็บชายอีกท่านนึง ในขณะที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้รักษาประตูดาวรุ่งวัย 23 ปี ของทีม ชลบุรี เอฟซี ที่มีชื่อว่า วรวุฒิ สุขุนา หรือแบงค์

จากรายงานข่าวคือผู้ก่อเหตุ อยู่ในอาการ “เมา” ผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ได้ถึง 184 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะบอกว่าไม่เมาคงไม่ได้เพราะกฎหมายเขียนชัดว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาแล้ว

เหตุการณ์เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที จากการที่ไม่สามารถควบคุมสติได้ ทำให้รถที่เขาขับมาด้วยความเร็ว คร่าชีวิตหญิงสูงอายุ และทำให้ชายอีกคนได้รับบาดเจ็บ และชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล

แถมเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเช้าตรู่ ซึ่งหมายความว่าเขาเองต้องมีการดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ค่ำคืนก่อน ลากยาวมาจนถึงก่อนเวลาเกิดเหตุ อันเป็นเรื่องผิดวิสัยของนักฟุตบอลอาชีพ

เพราะอย่างที่เราทราบดีว่า แอลกอฮอล์มีผลโดยตรงต่อสภาพร่างกาย สภาพความฟิตของนักเตะ ยิ่งตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการแข่งขันปกติก็แล้วใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความมีวินัยในการรักษาสภาพร่างกายของตัวเอง

มิใช่เขาเพียงคนเดียว ยังมีเพื่อนร่วมทีมอีกรายที่ปรากฎในข่าวว่าเข้ามาช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ ซึ่งสภาพก็ไม่ได้ต่างจากผู้ก่อเหตุเท่าใดนัก เป็นเรื่องที่แปลกมากโดยเฉพาะกับสโมสรที่มีชื่อว่ามีระเบียบวินัยเข้มข้นทีมหนึ่งของประเทศ

ถ้าเราย้อนกลับไปถึงคำพูดของคุณเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เคยพูดถึงความหย่อนยานในเรื่องระเบียบวินัยของนักเตะเยาวชน นั่นแสดงให้เห็นว่า เรื่องแบบนี้มีจริง และเกิดขึ้นในหลาย ๆ ทีม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

แม้จะมีบทลงโทษตามมา ก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ วัวหาย ยังไม่อยากจะแจ้งความ ปล่อยให้เรื่องเงียบไปแล้วก็เลยตามเลย

มาพูดถึงเรื่องลงโทษ ก็คงไม่มีประเด็นไหนที่เกี่ยวข้องกับเกมฟุตบอลโดยตรงที่ทุกคนต่างก็พูดถึง คณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท มีมติลงโทษ ภาณุมาศ พันธ์สะโม ผู้ตัดสินเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และ วิศเวศ สังข์นคร ผู้ตัดสิน VAR เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากกรณีทำหน้าที่ผิดพลาดในเกมรีโว่ ไทยลีก ที่หนองบัวพิชญ เอฟซี เปิดบ้านแพ้ ลำพูน วอริเออร์ 0 – 1 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

ประเด็นนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นและถือเป็นปัญหาดุลพินิจของผู้ตัดสินอันมีจุดเริ่มต้นจากการที่ บารอส ทาเดลลี จิ้มบอลไปโดนแขน วิธวินทร์ คลอวุฒิวัฒน์ ที่สไลด์ตัวเข้าสกัดบอลในกรอบเขตโทษ ผู้ตัดสินหลังจากดู VAR อยู่นาน ก่อนจะให้เป็นลูกจุดโทษ

บารอส ทาเดลลี ลุกขึ้นมายิงเอง แต่ยิงไปติดเซฟ นนต์ ม่วงงมา มาเข้าทาง อิสลาม บาทาน แปบอลสวนเข้าไปตุงตาข่าย แต่เมื่อตรวจสอบการเป็นประตูแล้ว ลูกนี้ถูกจับว่าเป็นการทำฟาวล์ก่อน

ทั้งหมดนี้สามารถประมวลเป็นเหตุการณ์ได้ทั้งหมด 3 เหตุการณ์ด้วยกัน

เหตุการณ์แรก การให้เป็นลูกจุดโทษ ซึ่งลักษณะเหตุการณ์เป็นการเข้าสไลด์บอลโดยที่มีแขนเคลื่อนไหวตามร่างกาย มือติดพื้น แต่แล้วฝ่ายรุกก็มีการเตะบอลมาโดนแขน

จังหวะแรกผู้ตัดสินไม่ได้เป่าเป็นลูกจุดโทษ ทำให้งานจึงไปตกอยู่ที่ผู้ช่วยผู้ตัดสิน VAR ทำการตรวจสอบว่ามีโอกาสเป็นจุดโทษหรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วมีความเห็นไม่ตรงกับผู้ตัดสิน นั่นคือเห็นว่าน่าจะเป็นจุดโทษ จึงส่งสัญญาณให้ผู้ตัดสิน แล้วเมื่อผู้ตัดสินไม่แน่ใจจึงตรวจสอบด้วยตนเอง

สุดท้ายเป็นจุดโทษ ซึ่งแน่นอนว่ามันขัดกับความเป็นจริง และเจตนาของผู้เล่นฝ่ายรับที่เพียงแค่แขนเคลื่อนที่ไปตามร่างกาย ไม่มีเจตนาทำตัวให้ใหญ่ผิดปกติและขัดขวางการเล่นโดยใช้มือ

เหตุการณ์ที่ 2 เป็นการยิงลูกที่จุดโทษ เมื่อมีการยิงเกิดขึ้นแล้วไม่เข้า เสี้ยววินาที ผู้ตัดสินต้องตัดสินใจว่าลูกนี้มีการมำผิดกติกาในระหว่างการยิงหรือไม่ เพราะในคู่มือจะบอกว่า หากมีการทำผิดกติกาโดยฝ่ายรับและฝ่ายรุกพร้อมกัน ไม่ว่าลูกนี้จะเข้าหรือไม่ ต้องยิงใหม่

แต่อย่างที่บอกครับว่าเสี้ยววินาทีที่ยิงแล้วไม่เข้า ก็เกิดการยิงซ้ำโดยผู้เล่นฝ่ายรุก จึงไม่มีการพิจารณาว่าในระหว่างที่ยิงจุดโทษมีการทำผิดกติกาหรือไม่ และ VAR ก็ไม่มีอำนาจจะดูเรื่องนี้ด้วย

เหตุการณ์สุดท้าย เป็นการเช็กการได้ประตู ปรากฎว่าลูกที่ถูกส่งเข้าไปตุงตาข่ายนั้น มาจากการซ้ำลูกยิงจุดโทษที่ผู้รักษาประตูฝ่ายรับปัดมาเข้าทาง

ซึ่งคนที่ซ้ำจะถูกตรวจสอบว่าทำผิดกติกาหรือไม่ ปรากฎว่า อิสลาม บาทาน ยืนเหยียบเส้นกรอบเขตโทษ ก่อนที่เท้าของ บารอส ทาเดลลี่ จะสัมผัสบอล ซึ่งเป็นการทำผิดกติกาโดยผู้เล่นฝ่ายรุกที่ทำประตู และผู้ที่เช็กก็คือผู้ช่วยผู้ตัดสิน VAR

จากเหตุการณ์ทั้ง 3 เห็นว่าจังหวะที่ใช้ดุลยพินิจในเหตุการณ์ที่ 1 และ 2 น่าจะไม่ถูกต้อง ส่วนเหตุการณ์ที่ 3 นั้นถือว่าถูกต้องแล้ว อาลี ซิสโซโก้ เขาก็เข้ากรอบ แต่ความผิดเขาก็จะอยู่ในเหตุการณ์ที่ 2 ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ 3

ปัญหาที่เกิดขึ้นนำมาสู่การร้องเรียน จนมีบทลงโทษออกมาดังกล่าว นั่นแหล่ะครับ เสี้ยววินาทีจริง ๆ ครับกับการใช้ดุลพินิจ แต่เมื่อมี VAR มาช่วยแล้ว คงอ้างเรื่องเสี้ยวเวลาก็คงไม่ได้หล่ะครับ

มีบางสื่อที่ถามหาความยุติธรรมจากการตัดสินผิดพลาดที่ริบประตูตีเสมอ แต่กลับไม่ถามหาความยุติธรรมในการมอบจุดโทษให้กับเจ้าบ้าน ซึ่งควรทำแบบเท่าเทียมกันครับ

สุดท้ายผลการแข่งขันนัดนี้กลายเป็นนัดประวัติศาสตร์ให้กับ “ราชันโคขาว” ลำพูน วอริเออร์ ที่เก็บชัยชนะ คว้า 3 แต้มแรกบนลีกสูงสุดของประเทศได้เสียทีหลังจากลงเล่นครบ 900 นาที

อย่างที่เขียนไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า โมเมนตัม จะทำให้พวกเขาเดินหน้าเก็บชัยชนะต่อเนื่องได้หรือไม่ ก็ต้องมาคอยดูกันครับ

by TTDad

เครดิตภาพ : https://www.matichon.co.th/sport , https://www.goal.com/th/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7 , FB Chonburi Football Club

Warut