ฮิมต๋ายฮิมยัง : ฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ใครๆก็พูดถึง

การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง ช้างศึก” ทีมชาติไทย เมื่อผ่านนัดที่ 7 มี 9 แต้ม จากการชนะ 2 เสมอ 3 และแพ้ 2 นัด สถานการณ์ที่จะได้เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายหมดลงไปเป็นที่เรียบร้อย ปล่อย เวียดนาม ทีมจ่าฝูง และ ยูเออี ทีมอันดับ 2 เข้าไปเล่นในรอบต่อไป

ถือเป็นความบอบช้ำสำหรับทีมฟุตบอลชาติไทย รวมถึงแฟนบอลชาวไทย เพราะใครเลยจะคิดว่าหลังจากได้เห็นเพื่อนร่วมทีมในกลุ่ม G ที่ประกอบไปด้วยเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้ง มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย จะมีก็แต่ ยูเออี เท่านั้นที่ไม่ใช่ทีมในอาเซียน

เมื่อเพื่อนร่วมกลุ่มไม่ได้เหนือกว่าเรามากนัก แถมยังเป็นเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เรารู้ไส้รู้พุงเป็นอย่างดี ความหวังในการผ่านเข้าไปสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย อย่างเช่นที่เราเคยทำได้อยู่เนือง ๆ ก็ฉายออกมา

การเปิดหัวด้วยการเสมอ เวียดนาม 0 – 0 ต่อด้วยการเอาชนะ อินโดนีเซีย 3 – 0 และเก็บอีก 3 แต้มเหนือ ยูเออี 2 – 1 มีทั้งหมด 7 แต้มจาก 3 นัด แต่แล้วหลังจากเกมที่เราพ่ายแพ้ต่อ มาเลเซีย 1 – 2 เสมอ เวียดนาม 0 – 0 เสมอ อินโดนีเซีย 2 – 2 แพ้ ยูเออี 1 – 3 เก็บไปได้อีก 2 คะแนน จาก 4 นัดหลังสุด ตกรอบไปแบบช็อคแฟนบอลชาวไทยทั้งประเทศ

จากการคาดหมายว่ารอบนี้ไม่น่าจะยากเย็นอะไร แต่กลับต้องมาเพลี่ยงพล้ำต่อเพื่อนพ้องในอาเซียน แม้ไม่ถึงขนาดแพ้เละเทะ แต่ผลเสมอนั้นก็เพียงพอให้เกิดคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับฟุตบอลทีมชาติไทย

คำถามมากมายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จี้ไปที่การบริหารงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การนำของบิ๊กอ๊อด” พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ผลงานและการบริหารงานในช่วงหลัง เริ่มออกทะเลไปแล้ว

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการทีมภายใต้หัวหน้าผู้ฝึกสอน อากิระ นิชิโนะ อดีตนักฟุตบอลและผู้จัดการทีมชาติญี่ปุ่น ที่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานที่ย่ำแย่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการโดยสมาคมฟุตบอลฯ

ประเด็นที่มีผู้กล่าวถึงก็คือระบบการจัดการฟุตบอลลีกภายในประเทศ ที่เริ่มมีความรู้สึกว่าความโลเลในการบริหารงานเริ่มมองเห็นได้ชัดมากขึ้นกว่าขวบปีแรก ๆ ที่ทีมงานของสมาคมฟุตบอลฯ ชุดปัจจุบันได้แสดงฝีไม้ลายมือ

การจัดการแข่งขันฟุตบอลที่เกิดปัญหาในช่วงหลัง แม้จะมีเหตุมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 แต่การรับมือ การตอบโต้กับปัญหา โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนห้วงเวลาการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยจากช่วง กุมภาพันธ์ – ตุลาคม (ฟฤศจิกายน) ไปเป็น กรกฎาคม ศกนี้ไปจบกันที่ พฤษภาคม ศกหน้า

การตัดจบการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาค จนเกิดปัญหาดังที่เราได้รับทราบกันไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับสโมสรสมาชิกในลีกระดับต่าง ๆ ทำให้มีหลายสโมสรที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ถ้าหากมองเฉพาะในระดับทีมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นที่ส่งผลให้ผลงานเราย่ำแย่ในรายการฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย ส่วนนึงคงมาจากการที่ฟุตบอลลีกของเราจบไปเมื่อเกือบ 2 เดือนมาแล้ว แน่นอนว่าการที่บอลลีกพักไปนานขนาดนั้น ถ้านักเตะไม่รักษาสภาพร่างกายให้มีความฟิตเหมือนยามที่ลีกกำลังเตะ สองเดือนหลังจากลีกปิด มันก็เหมือนการรีสตาร์ทบอลลีกฤดูกาลใหม่

ภาพที่เราเห็นในนัดที่เราพลาดท่าโดน อินโดนีเซีย ตีเสมอ เป็นจุดนึงที่ทำให้เราเข้าใจถึงสภาพร่างกายของนักเตะทีมชาติไทย ว่าถึงจุดที่อยู่ในระดับความฟิตสูงสุดหรือยัง หรือเรียกความฟิตจากการที่กรำศึกในช่วงท้ายฤดูกาลมาแล้วหรือยัง ตัวผู้เล่นที่ถูกคัดเลือกมาล้วนแล้วแต่มาจากผู้เล่นแนวหน้าในลีกที่กรอบกันเกือบหมด

นี่เองเป็นหนึ่งประเด็นที่ระยะเวลาของการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศ แต่ก็นั่นแหล่ะครับ จะบอกว่าบอลลีกในประเทศส่งผลทั้งหมดใช่หรือไม่ การวางแผนงานเพื่อรองรับของเราเองนั้นก็ไม่ชัดเจน จนกรอบเวลาที่เหลื่อมกันนี้ ส่งผลกระทบให้สภาพของนักเตะเราไม่แข็งแกร่งมากพอ

มาดูที่หัวหน้าผู้ฝึกสอน “ลุงโน๊ะ” อากิระ นิชิโนะ ชื่อเสียงที่เคยสั่งสมมา โดยเฉพาะกับทีมชาติญี่ปุ่นทั้งในระดับเยาวชนและทีมชาติชุดใหญ่ ยังไม่รวมถึงในระดับสโมสร แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นนั้นเฉพาะแค่ในประเทศตัวเองเท่านั้น

การเข้ามารับตำแหน่งต่างประเทศเป็นครั้งแรก และทีมที่เขาเลือกมาคุมนั้น คือทีมฟุตบอลชาติไทย ด้วยค่าจ้างในระดับหลักล้านบาทต่อเดือน แต่สิ่งที่ค่อนข้างน่าแปลกใจคือการรับหน้าที่คนเดียว โดยไม่มีผู้ช่วยมาด้วย ทั้งที่โดยปกติเราจะเห็นว่าบรรดาหัวหน้าโค้ชทั้งหลายมักจะหนีบ “ผู้ช่วย” ที่ประหนึ่งเป็น “มือขวา”

ตอนแรกสมาคมฟุตบอลจึงใช้ “โค้ชแบน” ธชตวัน ศรีปาน ทำหน้าที่เป็นทีมงานผู้ช่วยโค้ช ผลงานในช่วงเริ่มต้นถือว่ามีทิศทางที่ดี แม้จะยังไม่ได้มีถ้วยแห่งความสำเร็จใด ๆ ก็ตาม แต่เมื่อผลงานใน 2 นัดล่าสุดที่เก็บได้เพียงแต้มเดียวจากการลงสนามในรายการฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก จนทำให้ทีมชาติไทยตกรอบรายการนี้อย่างสนิท ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า กุนซือเลือดซามูไร รายนี้ ยังเป็นคนที่ใช่ต่อไปหรือไม่

การพานักเตะกว่า 40 ชีวิตเดินทางไป ยูเออี ยังเป็นคำถามที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดการเดินทางไปชมเกมในทุกสัปดาห์ของลุงโน๊ะ จึงไม่อาจเลือกนักเตะ 23 คนได้ก่อนออกเดินทาง ความกังขาในความเข้าใจในนักเตะไทยของลุงโน๊ะว่ามีมากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกหนึ่งประเด็น

แต่ใช่ว่าลุงโน๊ะเองจะไม่รู้ “ในสองเกมที่ผ่านมา เราเจอปัญหาสภาพร่างกายของนักเตะของเรายังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย อยากให้นักเตะทุกคนมีสภาพร่างกายดีขึ้นกว่านี้” นี่คือการให้สัมภาษณ์ หลังเกมอุ่นเครื่องเมื่อกับทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงสภาพร่างกายนักเตะที่เขาพาไปด้วย นี่คงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงต้องพานักเตะมาเยอะขนาดนี้

แน่นอนว่ากระแสต่าง ๆ ที่นำผลงานของลุงโน๊ะ ไปเปรียบเทียบกับโค้ชคนไทยก่อนหน้านี้ ถ้าจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ ก็คือ “โค้ชซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ในประเด็นของความสำเร็จเทียบกับเมื่อครั้งก่อนที่เราผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายไปได้

เมื่อความคาดหวังสูง แน่นอนเมื่อพลาดหวัง สิ่งที่ติดตามมาเสมอคือการ “เปรียบเทียบ” จะด้วยตัวบุคคล หรือ “ราคาที่ต้องจ่าย”

เหมือนช่วงเวลาฮันนีมูนกับลุงโน๊ะที่พ้นผ่าน เช่นกัน เมื่อครั้งที่โค้ชซิโก้ พาทีมร่วงในรอบ 12 ทีมสุดท้าย กระแสเรียกร้องหาโค้ชคนใหม่ก็ดังขึ้น ความชื่นมื่นที่เคยมีนั้นก็จืดจางไป ไม่ว่าก่อนหน้าคุณจะสร้างความสำเร็จอะไรมา ไม่ต่างอะไรกับลุงโน๊ะ

แต่ถ้าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนกันจริง ๆ สิ่งที่สมาคมต้องพิจารณาต่อไปก็คงเป็นรากฐานของฟุตบอลไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีความพร้อมสอดคล้องกับฟุตบอลลีกที่มีความแข็งแกร่งรุดหน้ากว่าเพื่อนบ้านในย่านนี้แค่ไหน

หากคำตอบที่ได้ยังไม่ใช่ การเติมเต็มด้วยการจ้างโค้ชที่มีดีกรี พร้อมกับค่าจ้างอันแสนแพง คงไม่ใช่คำตอบสำหรับทีมชาติไทย การปูพื้นฐานด้วยการใช้ “คนใน” ที่มีประสบการณ์กับนักเตะไทย น่าจะเหมาะสมมากกว่า การเวียนว่าย “จ่ายทิ้ง” ในยุคที่การเงินยังฝืดเคือง คงไม่เหมาะสมแต่อย่างใด

สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร ความเป็นคนไทย การเป็นกองเชียร์ไทย ยังคงอยู่ในสายเลือด ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลง

.

เครดิตภาพ : FB ช้างศึก

ฮิมต๋ายฮิมยัง by TTDad

#ฮิมสนาม #ฮิมสนามตั้งวงเล่า #อีซูซุศาลาเชียงใหม่ #ChiangmaiFreshmilk #ดาวเรืองตราบ้าน #ทรายป่าห้า #ไทยลีก #ไทยลีก2 #ไทยลีก3 #thaileague  #ฟุตบอล #ข่าวฟุตบอล #ภาคเหนือ #ข่าวบอล #ข่าวบอลไทย #ข่าวฟุตบอลไทย  #ป้อก๊าแข้ง

Warut