fbpx

ฮิมต๋ายฮิมยัง :  ความนิยมลด การพัฒนาหยุดนิ่ง

สวัสดีปีใหม่ 2566 ขอให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุข ใช้ชีวิต ทำกิจกรรม ตามที่ได้คาดหวังมุ่งหมายไว้ ด้วยความสุขกันนะครับ

ปี 2565 ที่ผ่านมา มีสิ่งต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้น ทั้งเรื่องดีและไม่ดี เรื่องไหนดีก็ทำกันต่อ เรื่องไหนแย่ ๆ บางทีต้องลืมแล้วไม่ทำซ้ำอีก

โฟกัสกันที่ปัจจุบัน สิ่งไหนอยากทำ ยังไม่ได้ทำ ก็หาจังหวะเวลาทำให้สำเร็จลุล่วงไปกัน

หลังจากที่โควิดได้แช่แข็งกิจกรรมอันเคยเป็นวิถีชีวิตปกติของเรามาหลายปี ปีใหม่ที่ผ่านมาซึ่งต่อเนื่องมาจากเทศกาลลอยกระทง กิจกรรมหลายเรื่องก็กลับมาดำเนินได้ตามปกติแล้ว

ยังไงก็ใช้ชีวิตตามปกติให้ปลอดภัย สมกับที่ได้รับอิสรภาพในการดำรงชีวิต รักษาความปลอดภัยส่วนตัว ให้ตลอดรอดฝั่งกันครับ

ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ฟุตบอลลีกในประเทศยังคงอยู่ในช่วงพักเลก ไทยลีก 2 – 3 จะกลับมาเตะกันในสุดสัปดาห์นี้ แต่ลีกสูงสุดยังคงต้องรอให้จบศึกชิงแชมป์อาเซียนก่อน ถึงจะกลับมาเตะกันต่อ

พอพูดถึงศึกชิงแชมป์อาเซียน นัดที่ทีมชาติไทย เจอกับทีมชาติกัมพูชา แฟนบอลส่วนใหญ่ที่ได้ชมเกมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทีมชาติกัมพูชา มีพัฒนาการที่ดีเอามาก ๆ

ถึงแม้สุดท้ายจะแพ้ทีมชาติไทย แต่รูปแบบการเล่นนั้นต้องบอกว่าดีเยี่ยมเลยทีมเดียว ต้องยกความดีความชอบให้กับ เคซุเกะ ฮอนดะ อดีตนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ที่เข้ามาทำทีมชาติกัพูชาตั้งแต่ปี 2018

แม้การคุมทีมนัดแรกของเขาในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติกัมพูชาจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติมาเลเซีย 1 – 3

แต่ระยะ 4 ปีกว่าที่เขาทำหน้าที่ จนมาถึงรายการชิงแชมป์อาเซียน พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถพัฒนาทีมชาติกัมพูชาให้มีรูปแบบการเล่นที่ดีมากขึ้นเท่าไหร่

น่าเสียดายตรงที่เขาไม่ได้คุมทีมชุดใหญ่ต่อไป จะเหลือก็แค่ทีมยู 23 ที่แน่นอนว่าจะลงเล่นในซีเกมส์ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ

ถ้าลดอายุลงมาเทียบกับชาติอื่น แล้วยังคงมีแนวทางการเล่นแบบนี้ เชื่อว่ากัมพูชาชุดนี้ที่หลายคนจะได้ไปเล่นซีเกมส์ จะไม่ใช่หมูสนามอย่างแน่นอน

มองมาที่คู่แข่งของทีมชาติกัมพูชาในเกมชิงแชมป์อาเซียนอย่างทีมชาติไทย คำถามที่เกิดขึ้นคือเห็นกัมพูชาดีขึ้นส่วนเราเหมือนย่ำอยู่กับที่

ซึ่งไม่ใช่ความเห็นเดียว แต่หลาย ๆ ความเห็นมีแนวทางสอดคล้องกันคือทีมชาติไทยเราเองหยุดพัฒนาอย่างนั้นหรือ

จะว่าหยุดพัฒนา หรือทีมอื่นเขาพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วมากกว่า ก็มีสิทธิ์จะมองได้ทั้งนั้นเพราะอย่างที่เราได้เห็นกันว่ารูปแบบการเล่นของทีมอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้มีการเล่นที่ดีขึ้น

ดูจากผลงานที่ผ่านมาในห้วง 2 – 3  ปีหลังก็พอจะเป็นคำตอบกราย ๆ ได้ว่าในภูมิภาคนี้เราดูเหมือนจะหยุดพัฒนาเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมภูมิภาค

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ลีกอาชีพของเรานั้นเป็นตัวตึงของย่านนี้ อย่างที่ลีกอื่นไม่อาจจะมาเทียบได้เลย ผลงานระดับสโมสรเอเชียก็ดีไม่ใช่น้อย

แต่ถ้าเรามองกันตามความเป็นจริง นักเตะที่ทำผลงานในลีกของเราเองหาใช่นักเตะไทยไม่ โดยเฉพาะกองหน้าที่นำตำแหน่งดาวซัลโวในทุกระดับล้วนแล้วแต่เป็นผู้เล่นต่างชาติทั้งนั้น

นี่ยังไม่นับตำแหน่งอื่น ๆ กองกลาง กองหลัง ต่างก็ได้อานิสงค์จากผู้เล่นต่างชาติแทบทั้งนั้น จะยกเว้นก็แต่ตำแหน่งผู้รักษาประตูที่มักไม่ค่อยใช้ผู้เล่นต่างชาติ เพราะเปลืองโควต้า

จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เรากว่าจะควานหาตำแหน่งสำคัญ ๆ อย่างกองหน้าตัวเป้า จากแต่ละสโมสรมันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน

ศูนย์หน้าที่ลงเล่นในศึกชิงแชมป์อาเซียนยังคงต้องใช้บริการ “เทพมุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา นี่ถ้าปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ยังคงเล่นได้ ไม่แน่ครับ “เดอะตุ๊ก” อาจจะได้ลง 11 ตัวแรกก็เป็นได้

จึงเป็นที่มาของการเข้ามาร่วมพัฒนาเยาวชนของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

แสดงให้เห็นว่า “ปัญหา” การขาดแคลนผู้เล่นทีมชาติไทยนั้นอาจจะรุนแรงและอาจส่งผลกระทบในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากเรายังไม่สามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนได้

ตัวอย่างเกาหลีให้ที่มีศูนย์ฝึกเยาวชนกระจายไปยังส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเยาวชนจากทั่วประเทศมาบ่มเพาะแล้วส่งขึ้นเป็นผู้เล่นของทีมชาติในอนาคต

ญี่ปุ่นที่เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว เราได้เห็นพวกเขาเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกในหลายสมัยล่าสุดนี้ แถมยังเข้ารอบลึก ๆ ได้อีกด้วย

จึงเป็นเครื่องการันตีว่า การสร้างทีมชาตินั้นจุดเริ่มต้นนั้นต้องมาจากการสร้างเยาวชน ให้การฝึกฝนอย่างถูกวิธี ให้เวทีในการแสดงความสามารถ สร้างประสบการณ์การแข่งขันในระดับนานาชาติ จนเติบใหญ่เป็นนักเตะทีมชาติที่เต็มไปด้วยความสามารถและประสบการณ์

ซึ่งภาพเหล่านั้นยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่การลงทุนนี้จะผลิดอกออกผล ช่วงนี้เราเลยต้องเจอสภาพความนิยมของบอลลีกในประเทศที่ค่อย ๆ ลดความนิยมลงไปเมื่อเทียบกับ 2 – 3 ปีก่อนที่โควิดจะระบาด

เมื่อมองถึงเรื่องความนิยมว่าเหตุใดจึงลดลง ก็ต้องมาดูที่เหตุว่า การที่แฟนบอลที่เป็นแนวแฟนพันธุ์แท้นั้น ส่วนมากแล้วไม่ค่อยหันหลังให้กับเกมของทีมสักเท่าไหร่

แต่สำหรับแฟนบอลที่ยังไม่อาจเรียกตัวเองว่าแฟนพันธุ์แท้ อาจจะมีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่เข้าไปดูบอลในสนาม

เรื่องความสนุกของเกม เรื่องเวลาการแข่งขัน เรื่องการเดินทางถ้าหากไม่ได้เตะในบ้านจริง ๆ รวมไปถึงการเชื่อมโยงผลงานจากระดับชาติมาสู่ระดับสโมสร

ซึ่งก็นั่นแหล่ะครับ เหตุผลมันมีหลากหลาย หากเราจะนับแฟนบอลในสนามต้องยอมรับตามตรงว่ามันลดลงอย่างที่เราสังเกตุเห็นได้

ยอดผู้ชมในสนามจากการรายงานของไทยลีกเอง ก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จากนัดแรกของฤดูกาลจนสิ้นสุดเลกแรก

รู้สึกได้ถึงความกระหายใคร่อยากชมเกมในสนามที่ดูเหมือนจะแผ่วลงเรื่อย ๆ

ก็คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกสักระยะจนกว่าจะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญของแต่ละทีมที่จะเกิดขึ้น รวมถึง “ทีมแม่เหล็ก” ที่มาเยือน อาจจะเป็นตัวพลิกเกมให้คนดูกลับเข้าสนามก็ได้ครับ

เครดิตภาพ : FB BURIRAM UNITED , Twitter J.Football Now , ASEAN FOOTBALL

by TTDad

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า